ประวัติอำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์
ประวัติความเป็นมา
อำเภอไพศาลีเป็น เมืองเก่าโบราณสมัยขอมเรืองอำนาจในดินแดนสุวรรณภูมิ มีซากวัตถุโบราณปรากฎให้เห็น เช่นอุโบสถ วิหาร หอสมุด พระพุทธปฏิมากร ระฆัง จอมปราสาท สระแก้ว สระขัวญฯ ในท้องที่หมู่ที่ 5 (บ้านหนองไผ่) หมู่ที่ 9 (บ้านพระพุทธบาท) ตำบลสำโรงชัย ประมาณว่ามีอายุราวปีพุทธศักราช 1204
นอกจากนี้ยังขุดพบซากโครงกระดูกมนุษย์โบราณ พร้อมทั้งเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น กำไล ลูกปัด ต่างหู ที่บ้านหมู่ที่ 5 (บ้านโพธิ์ประสาท) ตำบลโพธิ์ ประสาท และบริเวณหมู่บ้านใกล้เคียง ถือเป็นแหล่งที่ใหญ่ที่สุดที่เคยขุดพบ ซึ่งเจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากรได้มาตรวจแล้ว ประมาณว่ามีอายุราว 4,000 – 6,000 ปีใกล้เคียงกับที่ขุดพบที่บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี นอกจากนี้ยังพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณ พร้อมทั้งอุปกรณ์ของใช้ต่าง ๆ ประปรายที่บ้านเขา หินกลิ้ง หมู่ที่ 3 ตำบลวังนำลัด และ บ้านประจันตคีรี หมู่ที่ 6 ตำบลนาขอม อำเภอไพศาลี เดิมขึ้นอยู่กับอำเภอท่าตะโก จัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2505 และยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอเมื่อเดือน ตุลาคม 2508
คำขวัญประจำอำเภอ
หลวงพ่อโอนลือนาม หลวงพ่อดำลือเลื่อง เมืองเก่าเวสาฬี หน่อไม้ดีรสหวาน ตำนานเขาหินกลิ้ง งามยิ่งรอยพระพุทธบาท รุกขชาติซับสมบูรณ์
ที่ตั้งและอาณาเขต
อำเภอไพศาลีตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกสุดของจังหวัด มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอหนองบัว
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอบึงสามพัน อำเภอวิเชียรบุรี (จังหวัดเพชรบูรณ์) และอำเภอโคกเจริญ (จังหวัดลพบุรี)
- ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอโคกเจริญ อำเภอหนองม่วง (จังหวัดลพบุรี) อำเภอตากฟ้า และอำเภอท่าตะโก
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอท่าตะโก
การแบ่งเขตการปกครอง
การปกครองส่วนภูมิภาค
อำเภอไพศาลีแบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 8 ตำบล 101 หมู่บ้าน ได้แก่
- โคกเดื่อ 9 หมู่บ้าน
- สำโรงชัย 21 หมู่บ้าน
- วังน้ำลัด 10 หมู่บ้าน
- ตะคร้อ 18 หมู่บ้าน
- โพธิ์ประสาท 13 หมู่บ้าน
- วังข่อย 11 หมู่บ้าน
- นาขอม 11 หมู่บ้าน
- ไพศาลี 8 หมู่บ้าน
การปกครองส่วนท้องถิ่น
ท้องที่อำเภอไพศาลีประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 8 แห่ง ได้แก่
• เทศบาลตำบลไพศาลี ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลโคกเดื่อ และบางส่วนของตำบลไพศาลี
• องค์การบริหารส่วนตำบลโคกเดื่อ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลโคกเดื่อ (เฉพาะนอกเขตเทศบาลตำบลไพศาลี)
• องค์การบริหารส่วนตำบลสำโรงชัย ครอบคลุมพื้นที่ตำบลสำโรงชัยทั้งตำบล
• องค์การบริหารส่วนตำบลวังน้ำลัด ครอบคลุมพื้นที่ตำบลวังน้ำลัดทั้งตำบล
• องค์การบริหารส่วนตำบลตะคร้อ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลตะคร้อทั้งตำบล
• องค์การบริหารส่วนตำบลโพธิ์ประสาท ครอบคลุมพื้นที่ทั้งตำบล
• องค์การบริหารส่วนตำบลวังข่อย ครอบคลุมพื้นที่ตำบลวังข่อยทั้งตำบล
• องค์การบริหารส่วนตำบลนาขอม ครอบคลุมพื้นที่ตำบลนาขอมทั้งตำบล
• องค์การบริหารส่วนตำบลไพศาลี ครอบคลุมพื้นที่ตำบลไพศาลี (เฉพาะนอกเขตเทศบาลตำบลไพศาลี)
เศรษฐกิจ
อาชีพหลัก
การทำนา ทำไร่ พืชที่ ปลูกได้แก่ ข้าว ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ถั่วเขียว รองลงมาได้แก่มันสำปะหลัง ถั่ว ลิสง อ้อย พริก ทานตะวัน
อาชีพเสริม
การทำไร่อ้อย มันสำปะหลัง ทอผ้า
ธนาคาร
- ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สาขาไพศาลี
- ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สาขาบ้านหนองไผ่
- ธนาคารออมสินสาขาไพศาลี
- ธนาคารธนชาติสาขาไพศาลี
การเกษตร
ข้าว อ้อย ข้าวโพด
ทรัพยากรธรรมชาติและแหล่งน้ำที่สำคัญ
- ป่าสงวนแห่งชาติเขาคอก เขานางโลม และเขาสอยดาว เนื้อที่ 105,600 ไร่ประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติเมื่อวัน ที่ 28 กันยายน 2526 ตามกฏกระทรวงฉบับที่ 1013 (พ.ศ. 2526) อยู่ในท้อง ที่ตำบลไพศาลี ตำบลวังข่อย ตำบลสำโรงชัย และตำบลตะคร้อ
- ป่าสงวนแห่งชาติเขาสูง เขาพระ เนื้อที่ 8,000 ไร่ ประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติเมื่อวัน ที่ 29 กันยายน 2538 ตามกฏกระทรวง ฉบับที่ 1239 (พ.ศ.2538) อยู่ในท้องที่ตำบลวังนำลัด
สถานที่ท่องเที่ยว
• สวนรุกขชาติซับสมบูรณ์ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวของคนในอำเภอไพศาลี และอำเภอใกล้เคียง สวนรุกขชาติซับสมบูรณ์ อยู่ในตำบลวังข่อย ซึ่งเป็นตำบลหนึ่งในอำเภอไพศาลี แต่ก่อนเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติไม่ค่อยมีผู้คนสนใจ แต่ปัจจุบันได้มีการพัฒนาให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อของอำเภอไพศาลีโดยกรมป่าไม้ จะเป็นผู้ดูแลและทำนุบำรุงให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์มากที่สุด โดยมีการจัดกิจกรรม และรณรงค์ให้อนุรักษ์ป่าไม้มีการจัดประกวดการวาดภาพตามจินตนาการในทุก ๆ ปีในช่วงเดือนกันยายน ถึง ตุลาคม จะเป็นช่วงที่สวนรุกขชาติซับสมบูรณ์สวยที่สุด ในสวนรุกขชาติซับสมบูรณ์จะมีพันธุ์ไม้ที่หายากและน่าศึกษามากมาย
• เมืองเก่าเวสาลี ตั้งอยู่ที่ตำบลไพศาลีจากการขุดแต่งในพ.ศ.2539พบว่าโบราณสถานซึ่งตั้งอยู่บริเวณด้านทิศตะวันออกของเมืองนั้น เป็นศิลปสมัยอยุธยาตอนกลางและตอนปลายโบราณสถานที่ขุดแต่งประกอบด้วย อุโบสถ มณฑป วิหาร และเจดีย์ ผลจากการศึกษาหลักฐานชั้นดินทางโบราณคดีพบว่าก่อนการสร้างโบราณสถานกลุ่มเมืองเก่าเวสาลี บริเวณแหล่งนี้ได้มีชุมชนตั้งหลักแหล่งอยู่ก่อนแล้ว เป็นชุมชนในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ซึ่งได้มีการเข้าสู่การเป็นชุมชนคูน้ำขจั้นดิน ในสมัยทวาราวดี พบว่าเป็นเมืองสี่เหลี่ยมผืนผ้า มุมมนมีกำแพงขนาดของ เมืองยาวประมาณ 700 เมตร กว้างประมาณ 500 เมตร
• รอยพระพุทธบาท รอยพระพุทธบาทพบเมื่อวันที่ 16 กรกฏาคม พ.ศ.2534 โดยพระครูพิรุทอาภาทร เป็นผู้พบเห็นโดยพระครูพิรุทอาภาทร ได้นิมิตเห็นว่าบนภูเขานี้มีรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าอยู่โดยในนิมิตเห็นแสงพุ่งมาตกที่ภูเขา พอรุ่งเช้าของวันต่อมาก็มีผู้ค้นพบแต่รู้มาจากพระครูพิรุทอาภาทร เป็นผู้บอกให้ค้นหา และตั้งแต่นั้นมาก็มีผู้มาสักการะและร่วมบริจาคเงินในการทำนุบำรุงและสร้างสถูป ครอบรอยพระพุทธบาทไว้และร่วมบริจาคเงินในการสร้างวัดพระพุทธบาท รอยพระพุทธบาทเป็นสถานที่สำคัญของชาวบ้านและเป็นสถานที่ที่เหมาะแก่การศึกษาประวัติและความเป็นมาของชาวบ้านชาวพระพุทธบาท
• เขาหินกลิ้ง บริเวณที่เป็นหลักชัยกลิ้งหิน ปัจจุบันมีหินก้อนกลมใหญ่สองก้อนขนาดเท่า ๆ กันอยู่กลางทุ่งนา ณ บ้านเขาหินกลิ้ง ตำบลวังน้ำลัด อำเภอไพศาลี ส่วนเมืองไผ่สาลี ก็คือ บ้านหนองไผ่ อำเภอไพศาลี เมืองจำคา ก็คือ บ้านดอนคา อำเภอท่าตะโก และเมืองปัจจันตคาม คือ บ้านเขาข้างพุ่ม อำเภอไพศาลี
• ทุ่งปอเทืองและทุ่งทานตะวัน สถานที่ท่องเที่ยวแหล่งใหม่ของอำเภอไพศาลี สำหรับผู้ที่กำลังมองหาสถานที่สวยๆ เพื่อถ่ายรูป หรือสัมผัสกับความงดงามของธรรมชาติในช่วงหน้าหนาว ที่อากาศกำลังดี มีลมเย็นๆ ช่วยพัดไม่ให้ร้อนเกินไป มีทุ่งดอกไม้สีเหลืองท่ามกลางขุนเขา เหมาะแก่การถ่ายรูป เดินเล่นพักผ่อนกายใจให้สมองปลอดโปร่ง ต้องห้ามพลาดเที่ยวชมทุ่งปอเทืองและทุ่งทานตะวันของอำเภอไพศาลี ซึ่งเบ่งบานในฤดูหนาวโดยสามารถเที่ยวชมได้หลายจุดที่มีการเพาะปลูกกระจัดกระจายไปในตำบลโพธิ์ประสาทและด้วยความงดงามและสีสันเหลืองสดใสท่ามกลางธรรมชาตินี้เอง ทำให้ทุ่งปอเทืองและทุ่งทานตะวันอำเภอไพศาลี กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสุดฮิตในช่วงหน้าหนาวการเดินทาง บริเวณสองข้างถนนสายเกษตรชัย – ไพศาลี ในท้องที่ตำบลโพธิ์ประสาท
แหล่งอ้างอิง :
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AD%E0%B8%B3%E0%B9%80%E0%B8%A0%E0%B8%AD%E0%B9%84%E0%B8%9E%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%B5
– http://district.cdd.go.th/phaisali/about-us/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%B2
– https://www.thaitambon.com/tambon/600908
– https://www.facebook.com/pg/phisali
– http://rdi.nsru.ac.th/knowledge/district009.php
– http://www.oceansmile.com/N/Nakhonsawan/Nakhonsawan4.htm