ทำความรู้จักกับหอมแดง
หอมแดง (Shallot) เป็นพืชสมุนไพรที่คนไทยนิยมนำส่วนหัวมาใช้ในการประกอบอาหาร จัดเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ สามารถหาซื้อได้อย่างสะดวกตามตลาดในประเทศไทย ส่วนมากมีการปลูกทางภาคอีสาน จังหวัดศรีษะเกษ ซึ่งเมื่อปลูก 1 หัว หอมแดงก็จะสามารถเจริญเติบโตและแตกแยกออกมาเป็นหัวใหม่ๆ อีกได้ประมาณ 2-10 หัวต่อกอกันเลยทีเดียว
ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับวิธีปลูก การดูแล และสภาพแวดล้อมรอบข้าง โดยพืชสมุนไพรนี้มีสารอัลลิซิน (Allicin) และเอน-โพรพิลไดซันไฟด์ (N-propyl disulphide) ที่ทำให้มีกลิ่นฉุน อันเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นที่ไม่เหมือนใครแต่กลับมีประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย
สารสำคัญในหอมแดง
- น้ำมันหอมระเหย ในหอมแดงประกอบด้วยสารเคมีสำคัญมากมาย ซึ่งส่วนมากสารเหล่านั้นล้วนเป็นองค์ประกอบของน้ำมันหอมระเหยที่อยู่ในตัวหอมแดง โดยในส่วนของหัวจะพบสารสำคัญอย่างน้ำมันหอมระเหย (Coumarins) เป็นสารที่ทำให้หอมแดงมีรสชาติออกขมปนเผ็ดร้อน มีฤทธิ์ช่วยต้านการอักเสบ ต้านเชื้อแบคทีเรียและต้านอนุมูลอิสระ
นอกจากนี้ ในหอมแดงยังมีองค์ประกอบจากกำมะถัน ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้ระคายเคืองตา เวลาหั่นหอมแดงจึงทำให้แสบตาน้ำตาไหล ทำให้แสบจมูก และยังอาจมีการระคายเคืองต่อผิวหนังหรือก่อให้เกิดพิษบนผิวหนังได้ ส่งผลทำให้เป็นผื่นคัน และปวดแสบปวดร้อน - สารที่ทำให้เกิดกลิ่น นั่นก็คือสารโพรพิลไดซันไฟด์ (Propyl Disulfide) สารชนิดนี้มีบทบาทสำคัญโดยช่วยลดปริมาณไขมันในร่างกาย ในขณะที่สารที่ช่วยลดน้ำตาลกลูโคสในเลือดลงได้ คือ โพรพิล-อัลลิลไดซันไฟด์ (Propyl-allyl Disulfide) และไดโพรพิลไดซันไฟด์ (Dipropyl Disulfide)
- สารที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ คือ สารอัลลิซินโดยปกติแล้ว สารนี้จะไม่มีอยู่ในหัวหอม แต่สารนี้จะเกิดขึ้นต่อเมื่อหัวหอมถูกทุบหรือทำให้แตก ส่งผลให้สารอัลลิอิน (Alliin) เปลี่ยนมาเป็นอัลลิซิน ด้วยการทำงานของเอนไซม์อัลลิเนส (Alliinase) และเกิดกระบวนการทางธรรมชาติซึ่งส่งผลทำให้สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ได้นั่นเอง
- สารต้านอนุมูลอิสระ สารเควอซิทิน (Quercetin) ที่สกัดได้จากหอมแดงมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย
คุณค่าทางโภชนาการ
ในส่วนของหัวหอมแดง 100 กรัม ให้คุณค่าทางโภชนาการดังนี้
พลังงาน 63 กิโลแคลอรี่, คาร์โบไฮเดรต 12.6 กรัม, โปรตีน 2.7 กรัม, ไขมัน 0.2 กรัม, เส้นใย 0.6 กรัม, วิตามินเอ 28 ไมโครกรัม, วิตามินซี 5 มิลลิกรัม, แคลเซียม 16 มิลลิกรัม, ฟอสฟอรัส 59 มิลลิกรัม, ไนอาซิน 0.5 มิลลิกรัม, ไทอามีน 0.09 มิลลิกรัม, ไรโบฟลาวิน 0.03 มิลลิกรัม และเถ้า 0.6 กรัม
ประโยชน์ของหอมแดง
พืชสมุนไพรอย่างหอมแดง แน่นอนว่าจะต้องมีประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกายมากมาย เพราะมีสรรพคุณทางยาหลายด้าน โดยประโยชน์และสรรพคุณมีดังนี้
- ช่วยให้เจริญอาหาร สำหรับผู้ที่รู้สึกรับประทานอาหารได้น้อย ไม่ค่อยรู้สึกหิว หรือเบื่ออาหาร ให้ลองนำหอมแดงมาใช้ในการปรุงอาหาร ไม่ว่าจะเป็นยำวุ้นเส้น ไข่เจียวใส่หอมแดง หรือแม้แต่ซุปหัวหอม กลิ่นหอมแดงจะช่วยกระตุ้นร่างกายให้รู้สึกอยากอาหารมากยิ่งขึ้น และรสชาติของหอมแดงยังช่วยทำให้กับข้าวอร่อยมากขึ้นด้วย
- ป้องกันโรคหัวใจและช่วยลดความดันโลหิต หอมแดงอุดมไปด้วยสารอาหารที่ช่วยบำรุงหัวใจ ช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น เนื่องจากในหอมแดงมีสารเคอร์ซิทิน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่จะช่วยปกป้องเซลล์ในร่างกาย และช่วยลดการอักเสบได้เป็นอย่างดี
- บำรุงสมอง ในหอมแดงนั้นเต็มไปด้วยธาตุฟอสฟอรัส มีส่วนช่วยในการบำรุงสมอง ทำให้ความจำดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
- ป้องกันมะเร็ง เนื่องจากมีผลการวิจัยค้นพบว่า สารเคอร์ซิตินและสารฟลาโวนอยด์ที่มีอยู่ในหอมแดง มีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระที่เป็นสาเหตุในการก่อโรคมะเร็งได้
- ช่วยให้ร่างกายอบอุ่น หอมแดงเป็นสมุนไพรอีกหนึ่งชนิดที่มีฤทธิ์เผ็ดร้อน จึงมีคุณสมบัติช่วยเพิ่มอุณหภูมิภายในร่างกาย ใครที่ขี้หนาวเป็นประจำทานหอมแดงแล้ว รับรองจะช่วยให้ร่างกายอบอุ่นได้แน่นอน
- ช่วยไล่แมลงสาบ สำหรับบ้านไหนที่มีปัญหาแมลงสาบมาคอยกวนใจ ให้ลองนำหอมแดงมาหั่นเป็นแผ่น แล้วนำไปวางบริเวณที่แมลงสาบชอบเข้ามา ในหอมแดงนั้นเต็มไปด้วยสารกำมะถัน ที่มีกลิ่นฉุน จึงสามารถช่วยขับไล่แมลงสาบ ไม่ให้มากวนใจได้