แผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้วิธีการสอนแบบทักษะกระบวนการเผชิญสถานการณ์ เรื่อง การสร้างการ์ตูนแอนิเมชันด้วยโปรแกรม Scratch
แผนการจัดการเรียนรู้
โดยใช้วิธีการสอนแบบทักษะกระบวนการเผชิญสถานการณ์
หน่วยการเรียนรู้ที่ 1 เทคโนโลยี เรื่อง การสร้างการ์ตูนแอนิเมชันด้วยโปรแกรม Scratch
กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ รายวิชา วิทยาการคำนวณ รหัสวิชา ว14101
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ภาคเรียนที่ 1 เวลา 2 ชั่วโมง
ผู้สอน นายชนกานต์ สมานมิตร
สาระสำคัญ
แอนิเมชัน (Animation) หมายถึง กระบวนการที่เฟรมแต่ละเฟรมของภาพยนตร์ ถูกผลิตขึ้นต่างหากจาก กันทีละเฟรม แล้วนำมาร้อยเรียงเข้าด้วยกัน โดยการฉายต่อเนื่องกัน ไม่ว่าจากวิธีการ ใช้คอมพิวเตอร์กราฟิก ถ่ายภาพรูปวาด หรือ หรือรูปถ่ายแต่ละขณะของหุ่นจำลองที่ค่อย ๆ ขยับเมื่อนำภาพดังกล่าวมาฉาย ด้วยความเร็ว ตั้งแต่ 16 เฟรมต่อวินาที ขึ้นไป เราจะเห็นเหมือนว่าภาพดังกล่าวเคลื่อนไหวได้ต่อเนื่องกัน ทั้งนี้เนื่องจาก การเห็นภาพติดตาในทาง คอมพิวเตอร์ การจัดเก็บภาพแบบอนิเมชันที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในอินเทอร์เน็ต ได้แก่เก็บในรูปแบบ GIF MNG SVG และ แฟลช
มาตรฐานการเรียนรู้
มาตรฐาน ว 4.2 เข้าใจและใช้แนวคิดเชิงคำนวณในการแก้ปัญหาที่พบในชีวิตจริงอย่างเป็นขั้นตอนและเป็นระบบ ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในการเรียนรู้ การทำงาน และการแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ รู้เท่าทัน และมีจริยธรรม
ตัวชี้วัด
ว 4.2 ป.4/2 ออกแบบ และเขียนโปรแกรมอย่างง่ายโดยใช้ซอฟต์แวร์หรือสื่อ และตรวจหาข้อผิดพลาดและแก้ไข
จุดประสงค์การเรียนรู้
- นักเรียนสามารถอธิบายขั้นตอนการสร้างการ์ตูนแอนิเมชันจากโปรแกรม Scratch ได้ (K)
- นักเรียนสามารถสร้างการ์ตูนแอนิเมชันจากโปรแกรม Scratch ได้ (P)
- นักเรียนมีความมุ่งมั่นและตั้งใจในการออกแบบแอนิเมชัน (A)
กิจกรรมการเรียนรู้
ชั่วโมงที่ 1
ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน
- ครูกล่าวทักทายนักเรียน
- ครูนำคลิปวิดีโอตัวอย่างงานการ์ตูนแอนิเมชันด้วยโปรแกรม Scratch หลายๆ คลิปมาให้นักเรียนดู แล้วสุ่มนักเรียน 3 – 4 คน ออกมาเลือกคลิปวิดีโอที่ตัวเองชอบ
- ครูสัมภาษณ์นักเรียนที่เลือกคลิปวิดีโอในประเด็นต่อไปนี้
- เพราะอะไรจึงเลือกคลิปวีดีโอนี้
- นักเรียนมีเกณฑ์อะไรในการเลือก
- ครูให้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการสร้างการ์ตูนแอนิเมชันด้วยโปรแกรม Scratch
ขั้นสอน
ขั้นที่ 1 รวบรวมข่าวสาร ข้อมูล ข้อเท็จจริง ความรู้ และหลักการ
- นักเรียนรวมกลุ่มตามความสมัครใจกลุ่มละ 3 – 4 คน
- สมาชิกในแต่ละกลุ่มร่วมกันสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับหัวข้อในการสร้างและวิธีการสร้างการ์ตูนแอนิเมชันด้วยโปรแกรม Scratch จากแหล่งข้อมูลสารสนเทศและหนังสือต่าง ๆ แล้วบันทึกสรุปลงในสมุด
- สมาชิกในแต่ละกลุ่มร่วมกันอภิปรายประเด็นสำคัญของข้อมูลที่ได้สืบค้นมา
- นักเรียนนำเสนอข้อมูลที่ได้สืบค้นมาหน้าชั้นเรียน แล้วร่วมกันสรุปประเด็นสำคัญ
ขั้นที่ 2 ประเมินคุณค่าและประโยชน์
- ครูให้นักเรียนตอบคำถามในประเด็นต่อไปนี้
- ทำไมจึงต้องมีเกณฑ์ในการสร้างแอนิเมชัน
- ถ้ามีการเลือกตามความชอบส่วนตัว ผลที่ได้รับจะเป็นอย่างไร
- นักเรียนร่วมกันอภิปรายเกี่ยวกับความสำคัญของเกณฑ์และประโยชน์ของหัวข้อที่เลือก
ขั้นที่ 3 เลือกและตัดสินใจ
- นักเรียนแต่ละกลุ่มร่วมกันสร้างเกณฑ์ที่ใช้ในการสร้างการ์ตูนแอนิเมชันด้วยโปรแกรม Scratch ว่าจะใช้หัวข้ออะไรในการสร้าง
- ตัวแทนแต่ละกลุ่มนำเสนอเหตุผลที่เลือกเกณฑ์ในการสร้างการ์ตูนแอนิเมชันด้วยโปรแกรม Scratch
- ครูให้นักเรียนทุกคนช่วยกันคัดเลือกหัวข้อที่แต่ละกลุ่มคิดขึ้นเพื่อเป็นเกณฑ์กลางในการสร้างการ์ตูนแอนิเมชันด้วยโปรแกรม Scratch
- ครูตรวจสอบความถูกต้องเหมาะสม และเสนอแนะเพิ่มเติม
ชั่วโมงที่ 2
ขั้นที่ 4 ปฏิบัติ
- ครูมอบหมายให้นักเรียนแต่ละกลุ่มช่วยกันออกแบบและสร้างงานของกลุ่มตัวเองตามเกณฑ์กลางที่ตั้งเอาไว้ และนำเสนอหน้าชั้นเรียน
- นักเรียนแต่ละกลุ่มออกแบบงานของกลุ่มตัวเองลงในกระดาษ A4 โดยเขียนในลักษณะ Storyboard
- นักเรียนแต่ละกลุ่มลงมือสร้างแอนิเมชันด้วยโปรแกรม Scratch ตามที่แต่ละกลุ่มได้ออกแบบไว้ในกระดาษ A4
- นักเรียนแต่ละกลุ่มตรวจสอบข้อผิดพลาดของการสร้างแอนิเมชันพร้อมทั้งลงมือการแก้ไข และบันทึการปฏิบัติงานลงสมุด
- นักเรียนแต่ละกลุ่มนำเสนอขั้นตอนการออกแบบและเขียนโปรแกรมในการสร้างแอนิเมชันเป็น Power point รวมไปถึงผลงานแอนิเมชันของกลุ่มตัวเองหน้าชั้นเรียน
ขั้นสรุป
นักเรียนร่วมกันสรุปผลการสร้างการ์ตูนแอนิเมชันจากโปรแกรม Scratch เป็น mind mapping และประโยชน์จากการสร้างการ์ตูนแอนิเมชัน ครูตรวจสอบผลงานและให้คำแนะนำเพิ่มเติม
ขั้นการวัดและประเมินผล
ครูวัดและประเมินผลการสร้างการ์ตูนแอนิเมชันด้วยโปรแกรม Scratch โดยใช้เกณฑ์ที่กำหนดไว้
แหล่งการเรียนรู้
- อินเทอร์เน็ต
- ห้องสมุด
- หนังสือ
การวัดและประเมินผล
การวัดผลประเมินผล | วิธีการวัด | เครื่องมือวัด | เกณฑ์การผ่าน |
นักเรียนสามารถอธิบายขั้นตอนการสร้างการ์ตูนแอนิเมชันด้วยโปรแกรม Scratch ได้ | ตรวจแบบประเมินการอธิบาย | แบบประเมินการอธิบาย | ระดับ 1 ขึ้นไป |
นักเรียนสามารถสร้างการ์ตูนแอนิเมชันจากโปรแกรม Scratch ได้ | ตรวจแบบประเมินชิ้นงาน | แบบประเมินชิ้นงาน | ไม่ต่ำกว่า 13 คะแนน |
นักเรียนมีความมุ่งมั่นและตั้งใจในการออกแบบแอนิเมชัน | สังเกตพฤติกรรมความมุ่งมั่นและตั้งใจ | แบบประเมินพฤติกรรมความมุ่งมั่นและตั้งใจ | ระดับ พอใช้ ขึ้นไป |