การจัดการเรียนการสอนแบบ PBL
การจัดการเรียนการสอนแบบ PBL
การจัดการเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-Based Learning) เป็นกระบวนการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning
- แนวคิดของการจัดการเรียนรู้แบบPBL การจัดการเรียนการสอนแบบ PBL เป็นจัดการเรียนรู้ที่เน้นในสิ่งที่นักศึกษาอยากเรียนรู้ โดยสิ่งที่อยากเรียนรู้นั้นจะต้องเริ่มมาจากปัญหาที่นักศึกษาสนใจหรือพบในชีวิตประจำวันที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทเรียน อาจเป็นปัญหาของตนเองหรือปัญหาของกลุ่ม ซึ่งครูจะต้องมีการปรับเปลี่ยนแผนการจัดการเรียนรู้ตามความสนใจของนักศึกษาตามความเหมาะสม จากนั้นครูและนักศึกษาร่วมกันคิดกิจกรรมการเรียนรู้เกี่ยวกับปัญหานั้น โดยปัญหาที่จะนำมาใช้ในการจัดการเรียนรู้บางครั้งอาจเป็นปัญหาของสังคมที่ครูเป็นผู้กระตุ้นให้นักศึกาคิดจากสถานการณ์ ข่าว เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น จะเน้นที่กระบวนการเรียนรู้ของนักศึกษา นักศึกษาต้องเรียนรู้จากการเรียน (learning to learn) เน้นปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนในกลุ่ม การปฏิบัติและการเรียนรู้ร่วมกัน (Collaborative Learning) นำไปสู่การค้นคว้าหาคำตอบหรือสร้างความรู้ใหม่บนฐานความรู้เดิมที่นักศึกษามีมาก่อนหน้านี้
- จุดมุ่งหมายของการจัดการเรียนรู้แบบPBL กิจกรรมการจัดการเรียนรู้แบบ PBL มีจุดมุ่งหมายเพื่อฝึกทักษะการคิดแก้ปัญหาอย่างมีเหตุผลและเป็นระบบให้แก่นักศึกษาโดยจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นทักษะกระบวนการคิดแก้ปัญหา การคิดสร้างสรรค์ คิดวิจารณญาณ การสืบค้นและรวบรวมข้อมูล กระบวนการกลุ่ม การบันทึกและการอภิปราย
- ลักษณะของปัญหาในการจัดการเรียนรู้แบบPBL
– เกิดขึ้นในชีวิตจริงและเกิดจากประสบการณ์ของนักศึกษาหรือนักศึกษาอาจมีโอกาสได้เผชิญกับ
ปัญหานั้น
-เป็นปัญหาที่พบบ่อยมีความสำคัญมีข้อมูลเพียงพอสำหรับการค้นคว้า
-เป็นปัญหาที่ยังไม่มีคำตอบชัดเจน ตายตัวหรือแน่นอนและเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนคลุมเครือหรือนักศึกษาเกิดความสงสัย
-ปัญหาที่อาจมีคำตอบ หรือแนวทางการแสวงหาคำตอบได้หลายทางครอบคลุมการเรียนรู้ที่กว้างขวางหลากหลายเนื้อหา
-เป็นปัญหาที่มีความยากง่ายเหมาะสมกับพื้นฐานของนักศึกษา
-เป็นปัญหาที่ไม่สามารถหาคำตอบของปัญหาได้ทันที ต้องมีการสำรวจ ค้นคว้าและรวบรวมข้อมูล หรือทดลองดูก่อน จึงจะได้คำตอบ ไม่สามารถคาดเดา หรือทำนายได้ง่ายๆ ว่าต้องใช้ความรู้อะไร ยุทธวิธีในการสืบเสาะหาความรู้เป็นอย่างไร หรือคำตอบ หรือผลของความรู้เป็นอย่างไร
-เป็นปัญหาที่ส่งเสริมความรู้ด้านเนื้อหา ทักษะ สอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษา
- การเตรียมตัวของครูก่อนการจัดการเรียนรู้
– ศึกษาหลักสูตร เพื่อให้ครูเกิดความเข้าใจจุดประสงค์ของหลักสูตร ตลอดจนตัวชี้วัดและมาตรฐานการเรียนรู้ต่างๆอย่างละเอียดและสามารถนำความรู้ดังกล่าวไปจัดกระบวนการเรียนรู้ ให้สอดคล้องกับหลักสูตรแกนกลางตามเป้าหมายการเรียนรู้ได้
– วางแผนผังการจัดการเรียนรู้เกี่ยวกับเนื้อเรื่องที่จะสอน โดยครูต้องหาความรู้ที่เชื่อมโยงกับเนื้อเรื่องในการกำหนดแผนการจัดการเรียนรู้ คือมีการออกแบบกิจกรรมด้วยตนเอง ใช้สื่อและแหล่งเรียนรู้ชุมชนเพื่อเป็นการสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ให้กับเด็ก ออกแบบกิจกรรมใช้สื่อให้ทันกับเหตุการณ์ปัจจุบัน ทันกับคำตอบของนักศึกษา และเชื่อมโยงกับสิ่งที่นักศึกษาเรียนรู้ โดยเน้นออกแบบกิจกรรมการสอนแบบบูรณาการรายวิชา
– ออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสม ครูผู้สอนต้องออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้อย่างรัดกุมให้รายละเอียดการจัดกิจกรรมที่ชัดเจน คือ จะต้องจัดทำคู่มือครู และคู่มือผู้เรียนให้ชัดเจน ไม่ว่าครูท่านใดอ่านแผนการจัดการเรียนรู้แล้วสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแผนดังกล่าวได้
– ครูผู้สอนสอบถามความต้องการในการเรียนและสร้างความคุ้นเคยกับนักศึกษา ครูจะต้องสร้างความคุ้นเคยกับนักเรียนและถามความต้องการของนักศึกษาเพื่อสำรวจความต้องการของนักศึกษาไว้เป็นแนวทางในการออกแบบการจัดการเรียนรู้ให้สอดคล้องระหว่างหลักสูตรและความต้องการของนักศึกษา เพื่อความสะดวกในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่มีความเหมาะสมและเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจ
- ขั้นตอนการเรียนรู้แบบPBL
การจัดการเรียนรู้แบบ PBL มีขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ ดังนี้
– ทดสอบความรู้เกี่ยวกับเนื้อหาที่จะสอนก่อนเรียน เพื่อจะได้ทราบความรู้พื้นฐานของนักศึกษาเป็นรายบุคคลในเรื่องดังกล่าว และเป็นแนวทางในการออกแบบหรือปรับกระบวนการจัดการเรียนรู้ของครูให้เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของนักศึกษาด้วย
– ให้ความรู้เบื้องต้นก่อนเริ่มกิจกรรมการเรียนรู้ ความรู้พื้นฐานจะนำไปสู่การเรียนรู้ของนักศึกษาในกิจกรรมที่ต้องลงมือปฏิบัติ ดังนั้น ครูจึงต้องอธิบายเนื้อหาคร่าวๆ เพื่อให้นักศึกษาเกิดความเข้าใจในเบื้องต้น อาจจะเป็นการเปิดประเด็นกลุ่มใหญ่ของนักศึกษาทั้งชั้นก็ได้ก่อนการแยกตามกลุ่มย่อย
– แบ่งกลุ่มนักศึกษาในการทำกิจกรรม เพื่อให้นักศึกษารู้จักวางแผนคือ ให้นักศึกษารู้จักกำหนดกิจกรรมการเรียนรู้ของตนเอง และในขณะเดียวกันสามารถแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบให้แก่ตนเองและเพื่อนในกลุ่มได้
– สร้างกติกาในการร่วมกิจกรรมในชั้นเรียน เพื่อให้นักศึกษารู้จักเคารพในเงื่อนไขและกติกาที่กำหนดขึ้น โดยทุกคนในชั้นเรียนจะต้องยอมรับและปฏิบัติตาม
– ให้นักศึกษาลงมือปฏิบัติกิจกรรมด้วยตนเอง ครูเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้และลงมือปฏิบัติได้กิจกรรมต่างๆด้วยตนเอง โดยครูจะคอยเป็นผู้แนะนำ ตอบคำถามและสังเกตนักศึกษาขณะทำกิจกรรม
– ครูให้นักศึกษาสรุปสิ่งที่เรียนรู้จากการทำกิจกรรมและให้นักศึกษาได้นำเสนอผลงานของตน โดยครูเป็นผู้คอยสนับสนุนให้เกิดการนำเสนอที่หลากหลายรูปแบบและเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ ไม่จำกัดแนวคิดในการนำเสนอ
– ประเมินผลการจัดการเรียนรู้ตามสภาพจริง ประเมินผลจากผลงานและพฤติกรรมที่นักศึกษาแสดงออกขณะร่วมกิจกรรม โดยกำหนดเกณฑ์การประเมินผลการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับเนื้อหาที่จะสอนเป็นหลัก
- การประเมินผลการเรียนรู้แบบPBL
– การประเมินตามสภาพจริง เป็นการวัดผลหรือประเมินผลการปฏิบัติงานของนักศึกษาโดยตรงผ่านชีวิตจริง เช่น การดำเนินการด้านการสืบสวน ค้นคว้า การร่วมมือกันทำงานกลุ่มในการแก้ปัญหา การวัดผลจากการปฏิบัติงานจริง
– การสังเกตอย่างเป็นระบบ ครูต้องมีการกำหนดเกณฑ์การประเมินให้ชัดเจน
- บทบาทของครูในการจัดการเรียนรู้แบบPBL
การจัดการเรียนรู้แบบ PBL ครูผู้สอนจะทำหน้าที่สนับสนุนการเรียนรู้ของนักศึกษา คอยให้คำปรึกษา กระตุ้นให้นักศึกษาเอาความรู้เดิมที่มีอยู่มาใช้และเกิดการเรียนรู้โดยการตั้งคำถาม การใช้ IT ส่งเสริมให้นักศึกษาประเมินการเรียนรู้ของตนเอง รวมทั้งเป็นผู้ประเมินทักษะของนักศึกษาและกลุ่ม พร้อมให้ข้อมูลย้อนกลับเพื่อให้นักศึกษาได้เกิดการพัฒนาตนเอง
- ข้อเสนอแนะ
– ควรใช้โปรแกรมที่สนับสนุนการเรียนการสอนที่เหมาะสำหรับการให้นักศึกษาได้แสดงความคิดเห็นสามารถตรวจสอบนักศึกษาที่แสดงความคิดเห็นได้ทั้งกลุ่ม
– ใช้คำถามที่เป็นข้อสอบในการถามนักศึกษาเพื่อกระตุ้นให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้และพยายามค้นคว่าหาคำตอบให้ได้
– จัดรูปแบบการเรียนรู้แบบ PBL online ซึ่ง วพบ. นพรัตน์วชิระ ทำแล้วประสบความสำเร็จ
ขอขอบคุณ : http://164.115.41.60/knowledge/?p=509