ชาเขียว เครื่องดื่มยอดฮิตที่มีทั้งประโยชน์และโทษต่อสุขภาพ

กว่าจะมาเป็นชาเขียว
ชาเขียวเป็นชาที่ได้มาจากต้นชาซึ่งมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Camellia sinensis โดยเป็นชาที่ไม่ผ่านการหมัก ขั้นตอนการดื่มคือ นำใบชาเขียวสดมาทำให้แห้งอย่างรวดเร็วด้วยความร้อนที่ไม่สูงเกินไป และใช้มือคลึงเบาๆ ก่อนที่ใบชาจะเริ่มแห้ง หรือจะใช้วิธีอบไอน้ำในระยะเวลาสั้นๆ แล้วนำไปอบแห้งเพื่อเป็นการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ในใบชาก็ได้ วิธีนี้จะช่วยให้ใบชาที่ได้มานั้นแห้ง แต่ยังคงความสดและสีเขียวเอาไว้
ด้วยขั้นตอนการเตรียมชาที่ไม่ผ่านการหมัก ทำให้ใบชาเขียวมีสารประกอบฟีนอลหลงเหลืออยู่มากกว่าในชาอู่หลงและชาดำซึ่งจะผ่านการหมักมาก่อน ส่งผลให้เป็นชาที่มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระมากกว่าชาทั้ง 2 ชิดที่กล่าวมา นอกจากนี้ ยังมีสาร EGCG* ประมาณ 35-50% ในขณะที่ชาอู่หลงจะมีสารดังกล่าวประมาณ 8-20% และชาดำจะมีประมาณ 10% เท่านั้น
*เป็นสารกลุ่มคาเทชิน Catechins หลักที่พบได้มากในชาเขียว สาร EGCG จัดเป็นสารสำคัญที่มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่หลากหลาย ทั้งต้านอนุมูลอิสระ ลดการอักเสบ และเพิ่มความสามารถในการจดจำ รวมทั้งมีฤทธิ์ต่อการทำงานของเซลล์ไขมัน ลดไตรกลีเซอไรด์ ลดคอเลสเตอรอล เพิ่มการใช้พลังงาน เพิ่มสันดาปไขมันในสัตว์ทดลอง ลดการดูดซึมไขมันในลำไส้ ลดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ไขมัน ลดการสะสมของไขมันหน้าท้อง
ระดับคุณภาพของใบชา
ชาเขียวที่มีคุณภาพนั้นจะคัดจากใบชาคู่ที่หนึ่งและใบชาคู่ที่สองจากยอด ซึ่งชาคู่ที่หนึ่งและสองนั้นชาวจีนเรียกว่า บู๋อี๋ ส่วนใบชาคู่ที่สามและสี่จากยอดนั้นเรียกว่า อันเคย และใบชาคู่ที่ห้าและหกจากปลายยอดจะจัดอยู่ในประเภทชาชั้นเลว ที่เรียกว่า ล่ำก๋อง ส่วนในเรื่องของกลิ่น สี และรสชาติของชานั้นขึ้นอยู่กับปริมาณของสารคาเทชินที่มีอยู่ในชา ซึ่งฤดูการเพาะปลูกและการเก็บเกี่ยวต่างก็มีผลต่อระดับของสารคาเทชิน โดยในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ใบชาจะมีสารชนิดนี้อยู่ประมาณ 12-13% แต่ในช่วงฤดูร้อนจะมีอยู่ประมาณ 13-14% และจะพบสารคาเทชินในใบชาอ่อนมากกว่าในใบชาแก่
พลังงานแคลอรี่จากชาเขียว
ชาเขียวเป็นเครื่องดื่มที่ให้พลังงานค่อนข้างต่ำ จึงเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่ต้องการความสดชื่น แต่ข้อควรระวังคือชาเขียวบางประเภทอาจมีปริมาณน้ำตาลสูง หากรับประทานมากอาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้ โดยเครื่องดื่มชาเขียวแต่ละชนิดมีปริมาณแคลอรี่ดังต่อไปนี้
- แบบขวดปรุงสำเร็จ มักมีการเพิ่มสารให้ความหวานและน้ำตาล ซึ่งจะให้พลังงานประมาณ 60 แคลอรี่ต่อ 250 มิลลิลิตร
- แบบผงสำหรับชงดื่ม อาจมีส่วนประกอบเป็นสารให้ความหวานหรือน้ำตาลเช่นกัน แต่มักให้พลังงานน้อยกว่า คือประมาณ 22 แคลอรี่
- แบบถุงชาสำหรับชงดื่ม ถุงชาเขียวขนาด 1.8 กรัม หากชงโดยไม่เพิ่มส่วนผสมอื่นๆ เช่น นมหรือน้ำตาล จะให้พลังงาน 0 แคลอรี่
- ใบชาแบบหยาบสำหรับชงดื่ม ให้พลังงาน 0 แคลอรี่ เช่นเดียวกับแบบถุงชา
สารอาหารสำคัญจากชาเขียว
สารอาหารสำคัญที่พบได้ในชาเขียว ได้แก่ โพลิฟีนอล แทนนิน ฟลาโวนอยด์ ธีอะนีน กรดอะมิโน และสารในกลุ่มแซนทีนอัลคาลอยด์ คือ คาเฟอีน และธิโอฟิลลีน ซึ่งสารเหล่านี้คือสารที่มีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง และยังมีสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ที่ชื่อว่า คาเทชิน ซึ่งสารคาเทชินนั้นสามารถแบ่งออกเป็น 5 ชนิดด้วยกัน คือ Gallocatechin (GC), Epicatechin (EC), Epigallocatechin (EGC), Epicatechin gallate (ECG), และ Epigallocatechin gallate (EGCG) สารนี้พบได้มากและมีอานุภาพสูงที่สุดในชาเขียว โดยเฉพาะสารอีพิกัลโลคาเทชินกัลป์เลต ซึ่งเป็นสารที่มีความสำคัญในการออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ
สรรพคุณของชาเขียว
ตำราแพทย์แผนจีนได้กล่าวถึงการใช้ชาเขียวในการรักษาโรคต่างๆ มาเป็นเวลามากกว่า 4,000 ปี โดยสรรพคุณของชาเขียวในการช่วยรักษามีดังนี้
- มีส่วนช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะ
- มีส่วนช่วยรักษาภาวะซึมเศร้า
- มีส่วนช่วยแก้หวัด แก้อาการร้อนใน ช่วยขับสารพิษ และช่วยขับเหงื่อในร่างกาย
- ช่วยแก้อาการเมาจากการดื่มสุรา และช่วยทำให้สร่างเมาได้เป็นอย่างดี
- มีส่วนช่วยในการลดน้ำหนัก
- มีส่วนช่วยในการเพิ่มจำนวนแบคทีเรียชนิดดีในลำไส้ ซึ่งช่วยในการล้างสารพิษและกำจัดพิษในลำไส้ได้
- ช่วยป้องกันการเกิดลิ่มเลือดในร่างกาย
- ป้องกันตับจากภาวะพิษต่างๆ รวมทั้งป้องกันโรคเกี่ยวกับตับทั้งหลาย
- มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ต้านจุลินทรีย์ที่อยู่ในลำไส้ ต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัส รวมทั้งช่วยต้านเชื้อ Clostridium botulinum ที่เป็นสาเหตุของโรคโบทูลิซึมจากอาหาร และเชื้อ Staphylococcus ที่ทำให้เกิดอาหารเป็นพิษ
- มีส่วนช่วยในการขับปัสสาวะ ช่วยป้องกันนิ่วในถุงน้ำดีและนิ่วในไต
- ช่วยในการห้ามเลือดหรือทำให้เลือดไหลช้าลง
- มีส่วนช่วยป้องกันโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบ ส่งผลทำให้ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อและข้อต่อ โดยมักเกิดขึ้นในวัยกลางคน
- ใช้เป็นยาพอกเพื่อรักษาแผลอักเสบ แผลพุพอง ฝีหนอง ไฟไหม้ รวมทั้งช่วยบรรเทาอาการผดผื่นคัน แมลงสัตว์กัดต่อย และใช้เป็นยากันยุง รวมทั้งแก้ผิวแห้งได้
- มีส่วนช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย และช่วยระบายความร้อนบริเวณศีรษะและเบ้าตา จึงทำให้ตาสว่าง ไม่ง่วงนอน แถมยังช่วยให้หายใจสะดวกและรู้สึกสดชื่นขึ้นอีกด้วย
- ช่วยแก้อาการท้องร่วง ท้องเสีย และท้องบิดได้
- มีส่วนช่วยแก้อาการกระหายน้ำ ช่วยระบายความร้อนออกจากปอด และยังช่วยขับเสมหะได้อีกด้วย
ชาเขียวกับฤทธิ์ทางยา
ชาเขียวมีฤทธิ์ยับยั้งภาวะสุขภาพต่างๆ ซึ่งก็มีงานวิจัยมากมายที่สนับสนุนว่าชาชนิดนี้มีประโยชน์ต่อร่างกาย
- ช่วยลดน้ำหนักได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีงานวิจัยที่ระบุว่าสารคาเทชินมีฤทธิ์ช่วยเพิ่มการเผาผลาญพลังงานและไขมัน ซึ่งสารนี้พบได้มากที่สุดในชาเขียว
- มีส่วนช่วยในการลดคอเลสเตอรอลและลดระดับน้ำตาลในเลือด
- มีงานวิจัยทางคลินิกค้นพบว่ามีฤทธิ์ในการป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ
- ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งต่างๆ
- มีสารโพลีฟีนอลที่ช่วยยับยั้งการสลายของกระดูกที่เซลล์ออสติโอคลาสต์ นอกจากนี้ยังมีสาร EGCG ยังช่วยเพิ่มมวลกระดูก และยับยั้งการเจริญของเซลล์สลายกระดูกออสติโอคลาสต์ด้วย
- สารคาเทชินช่วยยับยั้งการอักเสบและช่วยสร้างเส้นใยในตับ นอกจากนี้ยังช่วยยับยั้งการเกิดไขมันพอกตับ และช่วยป้องกันไม่ให้มะเร็งลุกลามมาที่ตับ ทั้งยังมีแอล-ธีอะนีนที่มีส่วนช่วยในการลดอนุมูลอิสระ ทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากการทำเคมีบำบัดน้อยลง
- จากการศึกษาในคน พบว่าสาร EGCG คาเฟอีน และแอล-ธีอะนีน ช่วยให้สเปิร์มมีอายุนานขึ้น และสามารถปฏิสนธิได้ดีขึ้น
เขียวธรรมดา VS ชาเขียวมัทฉะ
โดยปกติแล้วชาเขียวผงจะถูกจัดแบ่งประเภทตั้งแต่ในขั้นตอนการปลูก โดยมีการกำหนดว่าต้องการให้ผงชาที่ออกมาเป็นประเภทไหน ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการทำให้เป็นผงที่แตกต่างกัน ซึ่งความแตกต่างของชาเขียวนั้นเกิดขึ้นจาก “วิธีการปลูก” ที่ไม่เหมือนกัน ไปจนถึงการเก็บเกี่ยวและคัดเอาส่วนของยอดอ่อนใบชาที่มีความสดและเป็นใบอ่อนยอดบนๆ หลังจากเก็บมาใหม่ๆ จะนำไปเข้ากระบวนการอบแห้งทันที จนได้ออกมาเป็นชาเขียวแบบใบแห้งที่เรียกว่า “เทนชะ” ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการผลิตต่อไป โดยผงชาเขียวที่ได้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. ผงชาเขียวธรรมดา
มีกระบวนการบดที่ไม่ได้ซับซ้อนมากมาย ส่วนใหญ่นำมาชงด้วยวิธีการกรองเอาใบชาออกจนได้เป็นน้ำชาใสๆ ที่มีกลิ่นและรสชาติไม่เข้มข้นมากนัก ดื่มได้ทั้งร้อนและเย็น ใบชาเขียวประเภทนี้จะไม่ละเอียดมาก และอาจมีสีเข้มขึ้น เนื่องจากผ่านการบดที่โดนความร้อน
2. ผงชาเขียวมัทฉะ
มัทฉะเป็นผงชาเขียวที่มีราคาแพงมากกว่าหลายเท่าตัว เนื่องจากกระบวนการทำมีความยุ่งยากมากกว่า โดยในการบดจะต้องใช้เทคโนโลยีที่จะไม่ทำให้ใบชาโดนความร้อน เพื่อรักษาสีเขียวของใบไว้ ให้มีรสชาติที่สดใหม่เหมือนเด็ดจากต้น และมีคุณค่าของใบชาสมบูรณ์แบบมากที่สุด เมื่อบดออกมาแล้วจะมีความละเอียดมากๆ สามารถนำไปชงละลายน้ำได้ทันที และได้รสชาติที่เข้มข้นมากกว่าผงชาเขียวธรรมดา และยังนิยมนำไปใช้เป็นส่วนประกอบของเครื่องดื่ม ขนมหวาน รวมไปถึงอาหารบางชนิดอีกด้วย
สารพัดประโยชน์ของชาเขียว
นอกจากสรรพคุณในด้านการรักษาโรคและบำรุงสุขภาพ ชาเขียวยังเป็นสมุนไพรที่นิยมนำมาเป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิด เช่น
ใช้เพื่อปรุงแต่งกลิ่น สี รวมทั้งรสชาติของอาหาร
ชาเขียวเป็นวัตถุดิบปรุงแต่งกลิ่นและรสจากธรรมชาติที่ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยนิยมนำมาเป็นส่วนผสมของอาหารหลากชนิด เช่น ขนมปัง เค้ก ขนมขบเคี้ยว ลูกอม เป็นต้น
ใช้เป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ต่างๆ
ด้วยกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์ ชาเขียวจึงกลายมาเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเกลืออาบน้ำ ครีมบำรุงผิว สบู่ น้ำยาดับกลิ่น ยาสีฟัน โลชั่น หรือน้ำยาบ้วนปาก โดยกลิ่นที่ได้จะผ่านการสกัดจากชาเขียว ก่อนนำมาใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เหล่านี้
ช่วยบำรุงผิว
ชาเขียวเป็นหนึ่งในวัตถุดิบที่ช่วยบำรุงผิว ทำได้โดยนำน้ำแร่มาต้มให้เดือด จากนั้นใส่ผงชาหรือใบชาเขียวตามลงไป แล้วทิ้งไว้ให้เย็น เสร็จแล้วจึงเทน้ำที่ได้ใส่ลงไปในขวดสเปรย์ ไว้ใช้สำหรับฉีดพ่นในหน้า จะช่วยเพิ่มความชุ่มชื่นและความเปล่งปลั่งให้กับผิวหน้าได้เป็นอย่างดี
ใช้ดับกลิ่นปากและลดแบคทีเรียในช่องปาก
ชาเขียวสามารถนำมาใช้เป็นน้ำยาบ้วนปาก เพราะช่วยทำให้ลมหายใจสดชื่นและช่วยลดเชื้อแบคทีเรียภายในช่องปากได้เป็นอย่างดี โดยมีผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเพส ประเทศสหรัฐอเมริกา ค้นพบว่าสารสกัดจากชาเขียวนั้นมีสรรพคุณช่วยในการยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย จึงช่วยกำจัดจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของโรคต่างๆ ภายในช่องปากได้ เช่น ป้องกันฟันผุ ป้องกันอาหารเป็นพิษ และช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุให้เกิดคราบพลัคในช่องปาก โดยจากการทดสอบในห้องปฏิบัติการพบว่าสารคาเทชินนั้นมีส่วนช่วยในการยับยั้งกระบวนการผลิตกลูแคนของเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus mutans ในช่องปากได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การรักษาโรคด้วยชาเขียวกับพืชสมุนไพร
- คู่กับเม็ดบัว ช่วยบรรเทาอาการฝันเปียก ทั้งยังช่วยในรักษาอาการหลั่งเร็วของคุณผู้ชาย
- คู่กับลูกเดือย ช่วยลดอาการบวมน้ำ มดลูกอักเสบ และอาการตกขาว
- คู่กับน้ำตาลกลูโคส ช่วยบรรเทาอาการตับอักเสบ
- คู่กับโสมอเมริกา ช่วยทำให้รู้สึกสดชื่น ทั้งยังช่วยแก้คอแห้ง และช่วยบำรุงหัวใจ
- คู่กับขิงสด ช่วยรักษาอาการจุกลมและอาหารเป็นพิษ
- คู่กับบ๊วยเค็ม ช่วยบรรเทาอาการคอแห้ง แสบคอ และเสียงแหบ
- คู่กับเม็ดเก๋ากี้ ช่วยลดความอ้วนและอาการตาฟาง
- คู่กับส่วนลำต้นของต้นหอม ช่วยบรรเทาอาการหวัดและช่วยขับเหงื่อออกจากร่างกาย
- คู่กับใบหม่อน ช่วยป้องกันโรคหวัด และช่วยลดไขมันในเส้นเลือดได้เป็นอย่างดี
- คู่กับเนื้อลำไยแห้ง ช่วยบำรุงสมองและเสริมสร้างความจำ
- คู่กับดอกเก๊กฮวยสีเหลือง ช่วยแก้อาการวิงเวียนศีรษะและอาการตาลาย
- คู่กับตะไคร้ ช่วยขับไขมันในเส้นเลือดได้เป็นอย่างดี
- คู่กับขึ้นฉ่าย ช่วยลดความดันโลหิต
- คู่กับหนวดข้าวโพด ช่วยลดความดันโลหิต ลดอาการบวมน้ำ และช่วยลดระดับน้ำตาลในเส้นเลือด
- คู่กับไส้หมาก ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด
โทษของชาเขียว
แม้ชาเขียวจะมีคุณประโยชน์ต่อร่างกาย โดยเฉพาะในแง่ของการป้องกันโรคหัวใจและโรคมะเร็ง รวมถึงประโยชน์จากสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยชะลอวัย แต่หากรับประทานมากเกินไปหรือใช้ไม่ถูกวิธี ก็สามารถให้โทษต่อร่างกายได้เช่นกัน ซึ่งผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้นจากการดื่มเครื่องดื่มชนิดนี้ ได้แก่
- ในชาเขียวมีคาเฟอีน (Caffeine) เช่นเดียวกับในกาแฟและโกโก้ ซึ่งเป็นสารที่กระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัวและรู้สึกสดชื่น การบริโภคชาเขียวในปริมาณที่พอดีมักไม่ทำให้เกิดพิษจากคาเฟอีน แต่หากดื่มในปริมาณที่มากเกินไป เช่น มากกว่าวันละ 3-4 แก้ว อาจส่งผลให้เกิดอาการข้างเคียงจากคาเฟอีนได้ เช่น นอนไม่หลับ รู้สึกอึดอัดไม่สบายท้อง คลื่นไส้ รวมถึงอาจมีอาการท้องเสียได้
- คนที่เป็นโรคหัวใจควรระมัดระวังในการดื่มชาเขียว เพราะคาเฟอีนสามารถทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะได้
- คาเฟอีนอาจส่งผลต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด คนที่เป็นเบาหวานจึงต้องระวังในการดื่มชาชนิดนี้
- อาจทำให้ผู้ที่มีภาวะวิตกกังวลมีอาการแย่ลงได้
- การดื่มชานี้มากเกินไปในขณะให้นมบุตรอาจทำให้คาเฟอีนส่งผ่านไปยังเด็กทางน้ำนม ซึ่งการได้รับคาเฟอีนในปริมาณมากอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อเด็กได้ โดยมีคำแนะนำว่าคุณแม่ที่ให้นมบุตรไม่ควรดื่มชาเขียวเกินวันละ 2 แก้ว
- การดื่มชาเขียวในระหว่างตั้งครรภ์อาจเพิ่มความเสี่ยงในการแท้งลูก คนท้องจึงควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มชนิดนี้ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนทั้งหลาย เช่น กาแฟ ชา และโกโก้
- เนื่องจากมีความเชื่อที่ว่าชาเขียวสามารถรักษาและยับยั้งเซลล์มะเร็งได้ จึงทำให้คนที่เป็นมะเร็งนิยมดื่มชาชนิดนี้กันมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน สารโพลีฟีนอล (Polyphenols) ซึ่งพบได้มากในชาเขียวก็สามารถทำปฏิกิริยากับยารักษามะเร็ง ทำให้ยาตีกันได้ โดยเฉพาะยาบอร์ทีโซมิบ (Bortezomib) นอกจากนี้ วิตามินเคที่พบมากในชาเขียวอาจทำให้ฤทธิ์ละลายลิ่มเลือดของยาวาร์ฟารินลดลง ซึ่งอาจจะทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันตามอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะในหลอดเลือดสมองและหัวใจ ดังนั้น ก่อนรับประทานชาเขียวและสมุนไพรอื่นๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรด้วย
- สารแทนนิน (Tannin) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดรสขมในชาเขียว สามารถยับยั้งการดูดซึมธาตุเหล็กในอาหารได้ จึงเพิ่มความเสี่ยงของภาวะขาดเหล็ก (Iron deficiency) ซึ่งจะทำให้เกิดโรคโลหิตจางตามมา
- มีความเชื่อว่าการดื่มชาเขียวในขณะท้องว่างจะสามารถช่วยเติมเต็มสารอาหารที่ควรจะได้จากอาหาร แต่จริงๆ แล้วความเชื่อนี้ไม่ถูกต้อง เพราะจากการทดลองในหนูทดลอง ที่ให้หนูดื่มชาเขียวในขณะท้องว่าง พบว่าทำให้เกิดพิษต่อตับ ไต และระบบทางเดินอาหาร แต่ก็ยังไม่มีการทดลองในมนุษย์โดยตรง
ขอบคุณบทความดีๆ จาก: https://www.honestdocs.co/green-tea-benefits-and-harm