
ภาษาไทยมีลักษณะพิเศษอย่างหนึ่ง คือมีภาษาที่บอกถึงระดับผู้พูดและผู้ฟัง
อย่างคำราชาศัพท์ที่เป็นคำสุภาพและเหมาะสมกับบุคคลฐานะต่างๆ
แม้เราจะมีโอากาสใช้คำราชาศัพท์กันไม่บ่อยนัก
แต่เนื่องด้วยเหตุการณ์ช่วงนี้เราจึงได้ยินคำราชาศัพท์กันมากกว่าเดิม
Motion Graphic Plus จึงได้รวบรวมหลักการใช้คำราชาศัพท์แบบเข้าใจง่าย
พร้อมคำราชาศัพท์ที่ใช้กันบ่อยๆ มาให้ทุกท่านได้ดูและใช้อย่างถูกต้องกันค่ะ
การใช้ “ทรง”
- ทรง+คำสามัญที่เป็นนาม (บางคำ) = กริยาราชาศัพท์
เช่น ทรงกีฬา (เล่นกีฬา), ทรงดนตรี (เล่นดนตรี) - ทรง+คำสามัญที่เป็นคำกริยา (บางคำ) = กริยาราชาศัพท์
เช่น ทรงอธิบาย, ทรงริเริ่ม, ทรงประพันธ์ - ทรง+คำราชาศัพท์ที่เป็นนาม (บางคำ) = กริยาราชาศัพท์
เช่น ทรงพระราชนิพนธ์ (แต่งหนังสือ/แต่งเพลง), ทรงพระอักษร (อ่าน/เขียน/เรียน) - จะไม่ใช้คำว่า “ทรง” กับคำกริยาราชาศัพท์ เช่น เสด็จ ไม่ใช่ ทรงเสด็จ ประชวร ไม่ใช่ ทรงประชวร
การใช้ “พระบรม/พระบรมราช/พระราช/พระ” กับพระมหากษัตริย์
- “พระบรม, พระบรมราช” ใช้นำหน้าคำนามที่เป็นสิ่งของสำคัญๆ น่ายกย่อง ซึ่งเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเท่านั้น
เช่น พระบรมราโชวาท, พระบรมมหาราชวัง, พระบรมฉายาลักษณ์, พระบรมราชโองการ - “พระราช” ใช้กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, สมเด็จพระบรมราชินีและอุปราช
เช่น พระราชหัตถเลขา, พระราชเสาวนีย์, พระราชดำริ - “พระ” ใช้นำหน้าคำที่เรียกอวัยวะ,เครื่องใช้ หรือคำสามัญ (บางคำ) ที่ไม่มีราชาศัพท์ใช้
เช่น พระพักตร์, พระเศียร, พระบาท, พระเก้าอี้, พระมาลา, พระกระยาหาร
การใช้ถ้อยคำเพื่อแสดงความอาลัยถวายแด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ร.9)
- สถิตอยู่ในใจตราบนิรันดร์ น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้
ข้าพระพุทธเจ้า ……………………… - เสด็จสู่สวรรคาลัย ผองผสกนิกรชาวไทยน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณตราบนิจนิรันดร์
ข้าพระพุทธเจ้า ……………………. - ปวงพสกนิกรชาวไทยน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณตราบนิจนิรันดร์
ข้าพระพุทธเจ้า ……………………. - ปวงประชาสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้
ข้าพระพุทธเจ้า ……………………. - เสด็จสู่ฟากฟ้าสุราลัย พระมหากรุณาธิคุณจารึกในใจไทยชั่วกาล
ข้าพระพุทธเจ้า …………………… - สถิตในดวงใจตราบนิจนิรันดร์ น้อมศิระกราน กราบแทบพระยุคลบาท ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้
ข้าพระพุทธเจ้า ………………………… - พระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้
ข้าพระพุทธเจ้า ………………………
**หลังคำว่า ข้าพระพุทธเจ้า ให้ระบุชื่อบุคคล คณะบุคคล และหน่วยงาน
คำศัพท์หมวดต่างๆ
1.หมวดร่างกาย
พระหทัย,พระกมล (หัวใจ) | พระเนตร (ดวงตา) | พระกร (ปลายแขน) | พระชานุ (เข่า) |
พระอุระ,พระทรวง (อก) | พระนาสิก,พระนาสk (จมูก) | พระทนต์ (ฟัน) | พระชงฆ์ (แข้ง) |
พระอุทร (ท้อง) | พระปราง (แก้ม) | พระกัประ,พระกะโประ (ข้อศอก) | หลังพระชงฆ์ (น่อง) |
พระนาภี (สะดือ) | พระโอษฐ์ (ปาก) | พระกัจฉะ (รักแร้) | พระบาท (เท้า) |
พระกฤษฎี,บั้นพระองค์ (สะเอว) | ต้นพระหนุ (ขากรรไกร) | พระหัตถ์ (มือ) | ข้อพระบาท (ข้อเท้า) |
พระปรัศว์ (สีข้าง) | พระกรรณ (หู) | พระปฤษฏางค์,พระขนอง (หลัง) | พระปราษณี,ส้นพระบาท (ส้นเท้า) |
พระผาสุกะ (ซี่โครง) | พระพักตร์ (ใบหน้า) | พระโสณี (ตะโพก) | พระฉวี (ผิวหนัง) |
พระเศียร (ศีรษะ) | พระศอ (คอ) | พระที่นั่ง (ก้น) | พระโลมา (ขน) |
พระนลาฏ (หน้าผาก) | พระรากขวัญ (ไหปลาร้า) | พระอูรุ (ต้นขา) | พระมัสสุ (หนวด) |
พระขนง (คิ้ว) | พระอังสกุฏ (จะงอยบ่า) | พระเพลา (หน้าตัก) | พระกฤษฎี,บั้นพระเอว (เอว) |
2.หมวดเครือญาติ
พระอัยกา (ปู่,ตา) | พระเชษฐา (พี่ชาย) | พระอัยยิกา,พระอัยกี (ย่า,ยาย) | พระราชธิดา,พระธิดา (ลูกสาว) |
พระปิตุลา (ลุง,อา) | พระนัดดา (หลาน) | พระมาตุจฉา (ป้า,น้า) | พระปนัดดา (เหลน) |
พระชนก,พระบิดา (พ่อ) | พระชามาดา (ลูกเขย) | พระชนนี,พระมารดา (แม่) | พระสุณิสา (ลูกสะใภ้) |
3.หมวดข้าวของเครื่องใช้และอาหาร
พระโอสถ (ยา) | พระกุณฑล (ตุ้มหู) | พระทวาร (ประตู) |
พระฉาย (กระจก) | พระบรรจถรณ์ (ฟูก) | ผ้าคลุมบรรทม (ผ้าห่มนอน) |
ฉลองพระเนตร (แว่นตา) | พระสุธารส (น้ำ) | พระสุคนธ์ (น้ำหอม) |
พระธำมรงค์ (แหวน) | พระบัญชร (หน้าต่าง) | พระแท่นบรรทม (เตียงนอน) |
พระภูษาทรง (ผ้านุ่ง) | น้ำจัณฑ์ (เหล้า) | พระกระยาหาร (ข้าว) |
พระสาง (หวี) | พระมาลา (หมวก) | พระกลด (ร่ม) |
พระแสง (อาวุธ) | พระวิสูตร (มุ้ง) | ผ้าซับพระพักตร์ (ผ้าเช็ดหน้า) |
เครื่องเสวย (ของกิน) | พระศรี (หมาก) | พระกระยาหารต้ม (ข้าวต้ม) |
4.คำสรรพนาม
บุรุษที่ 1 (สรรพนามแทนตัวผู้พูดเอง)
สรรพนาม | ฐานะผู้พูด | ฐานะผู้ฟัง |
ข้าพระพุทธเจ้า | บุคคลทั่วไป | พระมหากษัตริย์,เจ้านายชั้นสูง |
เกล้ากระหม่อมฉัน | บุคคลทั่วไป(หญิง) | เจ้านายชั้นรองลงมา |
เกล้ากระหม่อม | บุคคลทั่วไป(ชาย) | เจ้านายชั้นรองลงมา |
บุรุษที่ 2 (สรรพนามแทนตัวผู้ฟัง)
สรรพนาม | ฐานะผู้พูด | ฐานะผู้ฟัง |
ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท | เจ้านายหรือบุคคลทั่วไป | พระมหากษัตริย์,พระบรมราชินีนาถ |
ใต้ฝ่าละอองพระบาท | เจ้านายหรือบุคคลทั่วไป | พระบรมโอรสาธิราช,พระบรมราชกุมารี |
ใต้ฝ่าพระบาท | เจ้านายหรือบุคคลทั่วไป | เจ้านายชั้นสูง |
ฝ่าพระบาท | เจ้านายที่เสมอกันเหรือผู้น้อย | เจ้านายชั้นหม่อมเจ้าถึงพระเจ้าวรวงศ์เธอ |
บุรุษที่ 3 (สรรพนามแทนผู้ถูกกล่าวถึง)
สรรพนาม | ฐานะผู้พูด | ฐานะผู้ฟัง |
พระองค์ | บุคคลทั่วไป | พระมหากษัตริย์,เจ้านายชั้นสูง |
ท่าน | บุคคลทั่วไป | เจ้านาย |
ขอบคุณข้อมูลส่วนหนึ่งจาก : สำนักงานราชบัณฑิตยสภา | Office of the Royal Society